It was never so easy to get YouTube subscribers
Get Free YouTube Subscribers, Views and Likes

เรื่องลึกลับทางการแพทย์ : 1คน1จิต แต่ถ้า..1คนแต่หลายจิต หมอวินิจฉัยว่าอะไร ?

Follow
หมอเฉพาะทางบาทเดียว

เรื่องลึกลับทางการแพทย์ : 1คน1จิต แต่ถ้า...1คนแต่หลายจิต หมอวินิจฉัยว่าอะไร ?
บ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมายขึ้นในสังคม โดยเฉพาะคดีสะเทือนขวัญที่มีการฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม สิ่งที่สังคมได้รับรู้ภายหลังจากมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แล้ว บุคคลใกล้ชิดมักกล่าวถึงผู้กระทำผิดเหล่านั้นว่า ไม่อยากเชื่อว่าคนคนนี้จะกระทำความผิดอย่างไม่น่าให้อภัยได้ขนาดนี้ เพราะปกติเขาดูเป็นคนอ่อนน้อม สุภาพ เรียบร้อย อัธยาศรัยดี มีน้ำใจไมตรี ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นบุคลิกที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กับการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา พาลให้คนในสังคมต่างไม่ไว้ใจ หรือรู้สึกไม่ดีกับคนที่ดูสุภาพ หรือดูเป็นคนดี และทำให้คนที่มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตนหรือสุภาพหลายๆ คนเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง เด็กวัยรุ่นที่กำลังเติบโตจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร ควรวางตัวอย่างไร เกิดความสับสนในบุคลิกภาพของตนเอง

เราจึงได้เห็นคำหยาบคายเต็มสังคม พบเจอคนที่แสดงความหยาบกระด้างทางวาจา มึงวาพาโวยกันมากขึ้น เหน็บแนมกันเก่งขึ้น จิกกัดกันมากขึ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกสังคมตีตราว่าดีเพียงเปลือกนอก เพื่อให้รู้สึกไม่แปลกแยก เราจึงได้เห็นการปฏิเสธอย่างทันควันเมื่อมีใครสักคนมาชมว่าคุณเป็นคนดี แทบทุกคนรีบตอบกลับว่า “ไม่ ฉันไม่ใช่คนดี” คำว่า “คนดี” กลายเป็นคำที่เหมือนมีตำหนิ ไม่มีใครกล้ายอมรับที่จะใช้ ทั้งที่ที่จริงในใจ มนุษย์ทุกคนล้วนอยากทำความดี อยากเป็นคนดี แต่มนุษย์เราอยากเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากกว่า ทุกคนล้วนไม่อยากรู้สึกโดดเดี่ยว หรือไม่มีพวก

จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนเหนือการคาดเดา ไม่มีใครล่วงรู้ว่า หากมีสิ่งที่มากระทบใจ ย้ำบาดแผลที่ฝังลึกในอดีต จะทำให้คนที่เคยแสนดีกลายเป็นฆาตกรในชั่วพริบตาได้หรือไม่ หากกล่าวให้ละเอียดลึกลงไปอีก ก็มีทั้งคนที่ป่วย มีอาการทางจิต และคนที่ไม่ป่วย แต่ไร้สำนึก หรือขาดความยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งคนที่มีบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง

แต่ใช่ว่าคนที่ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก หรือมีบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง จะเป็นฆาตกรไปเสียทุกคน มีผู้ป่วยจำนวนมากที่น่าสงสาร และไม่เคยทำร้ายใคร ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ แต่เป็นคนหยาบคาย จิตใจหยาบกระด้างอยู่แล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นคนปกติเสมอไป ทุกบุคลิกภาพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทั้งคนปกติและคนป่วยก็มีทั้งคนดีและไม่ดีเช่นกัน

เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เรามาทำความรู้จักคนที่มีบุคลิก “หลายคนในร่างเดียว” กันดีกว่า
โรคหลายอัตลักษณ์ จัดเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง
มีชื่อโรคทางภาษาอังกฤษว่า Dissociative Identity Disorder (DID) เปลี่ยนจากชื่อโรคเดิมที่มีชื่อว่าโรคหลายบุคลิกภาพ Multiple Personality Disorder เพราะอัตลักษณ์มีความหมายที่แตกต่างคำว่าบุคลิก ขณะที่คนเราโดยทั่วไปสามารถมีความหลากหลายทางบุคลิกภาพได้ และไม่จัดว่าเป็นโรค ยกตัวอย่างเช่น อยู่กับเพื่อนมีความกล้าแสดงออก แต่อยู่กับผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยพูด เงียบ และเหนียมอาย นั่นเองที่เป็นบุคลิกภาพของคนเดียวที่แตกต่างไปตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ใช่อาการป่วย

แต่อาการป่วยที่แท้จริงคือความหลากหลายของอัตลักษณ์ โดยอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวตนของคนๆ นั้น ในคนปกติจะมีเพียงอัตลักษณ์เดียว แต่ในผู้ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์มักมีมากกว่าหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องกับสติ ความจำ เอกลักษณ์ของตัวเอง และการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยในผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดเพี้ยนทั้งหมดในส่วนที่กล่าวมา เพราะในตัวตนของคนเหล่านั้นมีหลายส่วนที่ไม่ต่อเนื่องกัน หรือถูกแยกออกจากกันเป็นหลายส่วน อย่างในคนทั่วไปจะรู้ตัวเองว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร หรือตกอยู่ในสถานการณ์ไหน เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักจากใคร แต่เขาก็ยังไม่ลืมตัวตนของตัวเอง เพียงแต่จะแสดงออกแตกต่างกันไปตามสถานการณ์

แต่ในผู้ป่วยความเป็นตัวตนเหล่านั้นจะขาดออกจากกัน ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกไม่ต่อเนื่องและไม่เหมือนกัน บางครั้งจะรู้สึกรักตัวเอง แต่บางครั้งก็จะรู้สึกเกลียดตัวเอง และมีความกดดันเกิดขึ้น มีความทรงจำเกี่ยวกับตัวเองที่ขาดหายไป จึงแสดงออกแตกต่างไปจากเดิมที่เคยเป็น เกิดจากพันธุกรรมและประสบการณ์วัยเด็ก ที่อาจมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก ถูกทำร้ายทางเพศ หรือมีเหตุการณ์ที่รุนแรงทางเพศ เมื่อผู้ป่วยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงจึงมีกลไกป้องกันตัวเองเกิดขึ้น และตัดขาดจากตัวเอง ตัดขาดจากความทรงจำของตัวเอง เพราะรู้สึกไม่ชอบและไม่ยอมรับในตัวตนของตัวเอง จึงแสดงออกในอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไป บางครั้งพบร่วมกับภาวะโรคซึมเศร้าหรือเจอร่วมกับประวัติของการถูกทำร้าย โดยคนไข้จะแสดงอาการเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ เพราะคนไข้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย

การรักษาอาการดังกล่าว
จะต้องใช้จิตบำบัดในระยะยาว ซึ่งจะต้องค่อยๆ ปรับอัตลักษณ์และบุคลิกภาพในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน โดยใช้จิตแพทย์เป็นหลักในการรักษา สิ่งที่คนรอบข้างควรทำคือให้ความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่คนไข้เป็น เมื่อคนไข้แสดงอาการก็พยายามยอมรับ หรือไม่แสดงอาการต่อต้าน เพื่อให้คนไข้รู้สึกยอมรับในตัวเองให้ได้ และอัตลักษณ์ของคนไข้ก็จะค่อยๆ กลมกลืนกัน

posted by Pricaq5